สาระน่ารู้ : งานก่อสร้าง
เรื่อง : กฎหมายเกี่ยวกับงานต่อเติมบ้าน 2
รู้จักกับกฎหมายต่อเติมบ้าน พร้อมสาระที่ผู้จะต่อเติมบ้านควรรู้!
บทความที่จะแนะนำถึงหลักการต่อเติมบ้าน และที่อยู่อาศัยว่าควรคำนึงถึงอะไรบ้าง และบทลงโทษหากทำการต่อเติมบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต
ต่อเติมบ้านแบบไหนที่ไม่ต้องขออนุญาต
การต่อเติมบ้านบางประเภทจะเป็นการเปลี่ยนแปลงบ้านเพียงเล็กน้อย ไม่สร้างผลกระทบกับน้ำหนัก และความมั่นคงของบ้านมากเท่าไหร่ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่กฎหมายจะบังคับให้ต้องขออนุญาต จึงสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องยื่นขออนุญาตก่อน ซึ่งกรณีการต่อเติมที่ไม่ต้องขออนุญาต มีดังนี้
- การเปลี่ยนโครงสร้างของบ้าน โดยใช้วัสดุ ขนาด จำนวน และชนิด เหมือนกับแบบเดิมไม่ต้องขออนุญาต เช่น เปลี่ยนเสาไม้เก่า 4 เสา เป็นเสาไม้ใหม่ 4 เสา แต่ยกเว้นการเปลี่ยนโครงสร้างที่ใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง และโครงสร้างเหล็ก จะต้องขออนุญาตเสมอ เพราะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูง
- การเปลี่ยนแปลงส่วนต่างๆ ของบ้าน ที่ไม่เป็นโครงสร้างของบ้าน ทำให้เพิ่มน้ำหนักรวมของบ้านไม่เกิน 10% ไม่ต้องขออนุญาต โดยตัวอย่างของส่วนที่ไม่นับเป็นโครงสร้างของบ้าน เช่น ผนัง พื้น และส่วนตกแต่งเพิ่มเติมอื่นๆ ซึ่งหากเปลี่ยนวัสดุเป็นวัสดุที่หนักกว่าเดิม เช่น เปลี่ยนพื้นไม้เป็นพื้นคอนกรีต ก็อาจต้องใช้วิศวะช่วยในการคำนวณน้ำหนักว่าเกิน 10% หรือไม่
- การเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของอาคาร ขนาด หรือรูปทรง ซึ่งเพิ่มน้ำหนักไม่เกิน 10% ไม่ต้องทำการขออนุญาต เช่น การเพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนรูปแบบ หน้าต่าง ประตู และฝ้าเพดาน เป็นต้น
- การเพิ่มหรือลดพื้นที่ โดยรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่เพิ่ม-ลดเสา รวมถึงคานใหม่ ก็ไม่ต้องขออนุญาต
- การเพิ่มหรือลดพื้นที่ส่วนของหลังคา ไม่เพิ่ม-ลดเสา หรือคานใหม่ และมีน้ำหนักรวมกันเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% ก็ไม่ต้องขออนุญาต
รวมข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะร่น และการเว้นที่ว่างก่อนจะต่อเติมบ้าน
ระยะร่น เป็นระยะห่างของอาคารกับทางสาธารณะ โดยจะเริ่มทำการวัดจากตำแหน่งของทางสาธารณะเข้ามาจนถึงแนวอาคาร ซึ่งการวัดระยะร่นของอาคารประเภทต่างๆ ก็จะมีวิธีการวัดที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการวัดจากเขตถนน หรือวัดจากจุดกึ่งกลางถนน ซึ่งระยะร่นจะต้องเป็นพื้นที่ว่างจากถนนถึงอาคาร โดยไม่นับขอบเขตของที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารนั้นๆ
ระยะห่างระหว่างอาคาร
ระยะห่างระหว่างอาคารนั้นมีอยู่หลายประเภท ซึ่งในเนื้อหาที่จะแสดงต่อไปนี้จะเป็นกรณีที่ใช้กับอาคารชั้นเดียว จนถึงอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร เช่น ต่อเติมบ้าน พื้นที่หลังบ้าน เป็นห้องครัว ห้องซักล้าง หรือระเบียงชั้น 2 ที่จะมีการวัดจากเขตแนวที่ดินกับตัวอาคารเป็นหลัก
ระยะห่างระหว่างผนัง
ระยะห่างระหว่างผนังกับที่ดิน ในกรณีผนังมีช่องเปิด อย่างหน้าต่าง ช่องลม หรือช่องที่แสงสามารถส่องผ่านได้ จะต้องเว้นระยะห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 2 เมตร และในกรณีผนังทึบ จะต้องเว้นระยะห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ยกเว้นเจ้าของพื้นที่ข้างเคียงมีหนังสือยินยอมให้สร้างได้ จึงจะสามารถสร้างชิดเขตแนวที่ดินได้ (ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 ข้อ 50)
ระยะห่างชายคา/กันสาด
สำหรับส่วนชายคา หรือกันสาดจะต้องห่างจากแนวเขตไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เท่ากันกับกรณีผนังทึบ
ระยะห่างของการต่อเติมระเบียงชั้นบน
การต่อเติมระเบียงชั้นบน ที่สามารถขึ้นไปใช้งานด้านบนได้ จะต้องเว้นระยะจากแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร เท่ากับกรณีต่อเติมผนังที่มีช่องเปิด
บทลงโทษ และค่าปรับหากทำผิดกฎหมายการต่อเติมบ้าน
ตามกฎพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 และ 39 ทวิ ซึ่งสามารถสรุปให้ง่าย คือ การจะดัดแปลง ต่อเติมอาคาร ต้องแจ้ง และต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานท้องถิ่นก่อนเสมอ ตามมาตรา 21 พร้อมกับต้องยื่นแบบแปลน รวมถึงชื่อสถาปนิกและวิศวกรที่ควบคุมงานให้เจ้าพนักงานทราบ ตามมาตรา 39 ทวิ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กำหนดให้การก่อสร้าง หรือต่อเติมต้องมีระยะห่างระหว่างอาคาร เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย และป้องกันการรบกวนบุคคลในพื้นที่ข้างเคียง โดยที่หากมีการต่อเติมบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือต่อเติมบ้านผิดไปจากแบบแปลนที่ยื่นขอไว้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง หากเจ้าของบ้านถูกร้องเรียน และสืบพบว่ามีการต่อเติมบ้านผิดกฎหมาย จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
เมื่อเวลาผ่านไป สภาพแวดล้อมรอบบ้าน คนที่อยู่อาศัย และสิ่งของที่ต้องใช้ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ดังนั้น การต่อเติมบ้านจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับหลายคน ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมบ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว หรืออื่นๆ ซึ่งการต่อเติมบ้านบางรูปแบบก็ไม่ต้องขออนุญาต เช่น การเปลี่ยนส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง ด้วยวัสดุเดิม น้ำหนักไม่เพิ่มมาก หรือการขยายหลังคาเพียงเล็กน้อยที่ไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยเมื่อตัดสินใจจะต่อเติมบ้านแล้วก็ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญอย่างสถาปนิก และวิศวะมาช่วยดูว่าต้องขออนุญาตหรือไม่ แผนการต่อเติมปลอดภัยหรือเปล่า และมีระยะร่นที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ จำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ไหมในการต่อเติมบ้าน ซึ่งหากจำเป็นก็ควรทำให้เรียบร้อยก่อนเริ่มการต่อเติมบ้าน พร้อมทั้งควรพูดคุยตกลงกับเพื่อนบ้านให้ตรงกันว่าจะทำการต่อเติมแบบใด เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคต เช่น การล้ำพื้นที่ หรือความรำคาญระหว่างการก่อสร้าง เป็นต้น
ซึ่งหากจำเป็นต้องยื่นขออนุญาตแต่ไม่ทำตามก็จะนำมาซึ่งบทลงโทษที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อไปได้ ทั้งในเชิงความเสี่ยงที่จะติดคุก หรือเสียค่าปรับ และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย ผู้คนโดยรอบ และทรัพย์สิน ดังนั้น การทำให้การต่อเติมบ้านที่ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
การฉาบปูนนั้นคืองานที่เป็นสาระสำคัญอยู่ตรงที่ควรทำอย่างไรให้การฉาบปูนออกมามีเรียบเนียน และไม่ก่อให้เกิดการแตกร้าวหลังจากที่ปูนแห้งสนิท ซึ่งปัญหาเรื่องการแตกร้าวนับเป็นเรื่องชวนปวดหัวที่ช่างก่อสร้างมักเจอเป็นประจำ และแน่นอนว่ามันสามารถสร้างความกังวลใจแก่เจ้าของบ้านเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการนำลวดตาข่ายที่เรียกว่า “ตะแกรงกรงไก่” ซึ่งเต็มที่อุปกรณ์ลวดเหล็กชนิดนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ในงานด้านปศุสัตว์และงานด้านเกษตรกรรม เพราะเป็นการนำเส้นลวดตาข่ายสี่เหลี่ยมชุบสังกะสี (GALVANIZED STEEL WIRE) ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันสนิมและทนทานต่อการกัดกร่อนจากสภาวะต่างๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งในเชิงช่างหรืองานก่อสร้างนั้นตะแกรงกรงไก่ถือว่ามีประโยชน์ในงานฉาบปูนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ประโยชน์ของตะแกรงกรงไก่สำหรับงานก่อสร้าง
สามารถนำใช้เพื่อลดโอกาสแตกร้าวของผนังที่มีการฉาบปูน โดยเฉพาะในจุดที่มีปัญหา เช่น รอบวงกบประตู-หน้าต่างๆ, ตามแนวท่อน้ำประปา, แนวท่อร้อยสายไฟฟ้า, รอยต่อระหว่างเสาและผนัง, รอยต่อระหว่างคานและผนัง, รอยต่อระหว่างผนังและคานคอดิน เป็นต้น ใช้รองรับแผ่นฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาไม่ให้หย่อนเป็นท้องช้างได้ ใช้ได้กับทั้งใต้หลังคาโรงงาน ห้างสรรพสินค้า และโกดังสินค้า เป็นต้น
ควรเลือกซื้อตะแกรงกรงไก่ขนาดเท่าไหร่ ตะแกรงกรงไก่สำหรับงานก่อสร้างนั้นจะนิยมเลือกซื้อในขนาด ตา ½” หรือตาข่ายกว้าง 4 หนุน หน้ากว้าง 90 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 24-30 เมตร โดยขนาดไซซ์อื่นๆ จะนิยมใช้ในงานประเภทอื่นอย่างทำกรงนก กรงไก่ ตาข่ายป้องกันงู ตาข่ายกั้นอาณาเขต ก็จะใช้ความถี่หรือความกว้างของตาข่ายที่แตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์เป็นหลัก
ควรติดตะแกรงกรงไก่ก่อนฉาบที่บริเวณใดบ้าง อย่างที่ได้กล่าวไปว่าตะแกรงกรงไก่เป็นตาข่ายเหล็กที่เหมาะสำหรับใช้งานฉาบปูน โดยสามารถนำไปประยุกต์ได้ในหลายตำแหน่งดังนี้
งานฝังท่อวางระบบและบล็อกไฟเป็นตำแหน่งที่สามารถเกิดรอยร้าวหลังปูนแห้งค่อนข้างสูง เพราะในระหว่างวันปูนจะมีการหดตัวและคลายตัวเกิดขึ้นได้ตามสภาพอากาศ คุณสามารถแก้ปัญหาได้โดยการเสริมตะแกรงกรงไก่ตามตำแหน่ง แนวท่อประปา และแนวท่อร้อยสายไฟ เพื่อให้ปูนสายยึดเกาะและจับตัวได้ดียิ่งขึ้น
ช่องเปิดประตู หน้าต่าง ช่องแอร์ ในตำแหน่งตามมุมอย่างวงกบประตู หน้าต่าง และช่องแอร์ ล้วนเป็นตำแหน่งยอดฮิตที่มักพบเจอราวร้าวได้เป็นประจำ โดยคุณสามารถนำตะแกรงกรงไก่ไปปิดรอบส่วนของวงกบทับเสาเอ็นและคานทับหลังได้เลย พร้อมปิดตรงมุม 45 องศาด้วย ช่วยให้ปูนไม่ร่อนและจับตัวได้ดีกว่า
รอยต่ออิฐเสมอเสาโครงสร้าง รอยต่อตามตำแหน่งต่างๆ เช่น รอยต่อระหว่างเสากับผนัง รอยต่อระหว่างคานกับผนัง และรอยต่อระหว่างผนังกับคานคอดิน คุณสามารถนำตะแกรงกรงไก่ไปช่วยแก้ปัญหาโดยการปิดรอยต่อตามตำแหน่งที่กล่าวไปทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรอยแยก ซึ่งเป็นรอยที่รบกวนใจได้มากกว่ารอยแยกตามตำแหน่งอื่นๆ เป็นอย่างมาก