สาระน่ารู้ : ปัญหาพื้นที่จอดรถทรุด

สำหรับบ้านที่อยู่กรุงเทพฯ, ปริมณฑล, แถวภาคกลาง หรือบ้านที่อยู่บนชั้นดินอ่อนพื้นที่ตามท้องนา ห้วย หนอง คลอง บึง ต้องเคยเจอปัญหาพื้นจอดรถเกิดการทรุดตัว, มีรอยร้าว หรือรอยแยกกันทั้งนั้น เพราะการอยู่บนชั้นดินอ่อนคือความเสี่ยงอย่างหนึ่งในการเกิดปัญหานี้ วันนี้เรามี 3 วิธี แก้ปัญหาพื้นจอดรถทรุด มาฝาก เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหานี้เข้าใจและมีวิธีแก้ไขกันครับ

 

วิธีแก้ไขปัญหาพื้นจอดรถทรุด

  • สร้างพื้นจอดรถบนโครงสร้างที่มีเสาเข็มรองรับ และความยาวของเสาเข็มต้องยาวใกล้เคียงกับตัวบ้าน จึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้การทรุดตัวของทั้งบ้าน และที่จอดรถเกิดความเท่ากัน แต่ก็มีข้อเสียอยู่คือ ทำให้สิ้นเปลืองค่าก่อสร้างมากขึ้น และรอยต่อระหว่างที่จอดรถกับถนนหน้าบ้านอาจเกิดรอยแตกขึ้นได้ เนื่องมาจากการทรุดตัวของถนน แล้วเราก็ต้องมาแก้ไขในส่วนนี้เพิ่มเติมอีก เช่นการเทพื้นทำทางลาด (Ramp) เป็นต้น แต่ก็ดีกว่าการปล่อยให้พื้นจอดรถทรุดลงไปเรื่อย ๆ

 

  • ก่อสร้างพื้นจอดรถบนเสาเข็มสั้นแบบปูพรม โดยปกติที่นิยมใช้กันคือเสาเข็มสั้น เช่น เสาเข็มหกเหลี่ยม หรือเสาเข็มรูปตัวไอความยาวประมาณ 2-6 เมตร มาตอกปูพรมทุกระยะ 1 เมตร เป็นต้น เพื่อช่วยชะลอการทรุดตัวของพื้นที่จอดรถ อย่างไรก็ตามวิธีนี้แม้จะมีเสาเข็มช่วยรับน้ำหนักแต่พื้นก็ยังเกิดการทรุดตัวอยู่ดี ดังนั้นบริเวณที่จอดรถที่ติดกับตัวบ้านควรแยกโครงสร้างออกจากกัน ด้วยการตัดแยกรอยต่อระหว่างพื้นโครงสร้างที่วางบนคานและพื้นโครงสร้างที่วางบนดิน หรือเรียกสั้น ๆ ว่าการการตัด Joint โครงสร้างไม่ให้ติดกันก็ได้ (วิธีที่นิยมใช้กัน คือ วิธีการตัด Joint โดยการโรยกรวด หรือกรณีที่รอยร้าวไม่มากจะใช้วิธีอุดรอยต่อด้วยโฟมเส้นแล้วยาแนวด้านบนด้วยวัสดุอุดรอยต่อ อาทิ PU หรือ ซิลิโคน หรือยางมะตอย)

 

  • ให้ก่อสร้างพื้นจอดรถบนพื้นดิน (Slab On ground) โดยไม่มีเสาเข็มหรือโครงสร้างรองรับ วิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกและประหยัดที่สุด ที่สำคัญเหมาะกับการก่อสร้างพื้นจอดรถบนดินแข็งด้วย แต่มีข้อแม้อยู่ที่หากตั้งอยู่บนดินอ่อนก็จำเป็นต้องบดอัดดินให้แน่นก่อนทำการเทพื้นที่จอดรถ จากนั้นช่างจะทำการตัดแยกโครงสร้างส่วนที่จอดรถและโครงสร้างโดยรอบออกจากกันครับ

 

สรุปวิธีแก้ไขปัญหาพื้นจอดรถทรุดแบบสั้นกระชับเข้าใจง่ายมากขึ้น

วิธีที่ 1 : เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะไม่เกิดการทรุดตัวที่แตกต่างกันระหว่างตัวบ้านและที่จอดรถ แต่ค่าก่อสร้างอาจสูง และต้องแก้ปัญหารอยต่อระหว่างที่จอดรถกับถนนหน้าบ้านต่อ เนื่องมาจากถนนหน้าบ้านอาจเกิดการทรุดตัว

วิธีที่ 2 : จะมีการทรุดตัวปานกลางขึ้นกับความยาวเสาเข็ม ค่าใช้จ่ายปานกลาง

วิธีที่ 3 : แม้วิธีนี้จะง่าย และค่าใช้จ่ายถูกที่สุด แต่อาจเกิดปัญหาการทรุดตัวมากที่สุด หมายถึงเราต้องคอยตามซ่อมไปเรื่อย ๆ   อีกทั้งวิธีนี้ยังไม่ควรลงทุนทำพื้นสวย ๆ เช่น ทรายล้าง, คอนกรีตพิมพ์ลาย, ปูกระเบื้องแพง ๆ เลย เนื่องจากต้องซ่อมบ่อยนั่นเอง